About Me

header ads

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกพร้อมเครือข่าย ชี้ความโหดร้ายที่ซ่อนอยู่ในอุตสาหกรรมผลิตไก่

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกพร้อมเครือข่าย เปิดโปงความโหดร้ายที่ซ่อนอยู่ในอุตสาหกรรมผลิตไก่
     24 สิงหาคม 2566, กรุงเทพฯ – องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ร่วมกับ องค์กร We Animals Media เผยหลักฐาน การเลี้ยงไก่ในฟาร์มอุตสาหกรรมแบบพันธะสัญญาที่เต็มไปด้วยความโหดร้ายทารุณนั้นมีอยู่จริง ไก่มีสวัสดิภาพที่เลวร้าย และมีชีวิตอย่างทุกข์ทรมานตั้งแต่เกิดจนตาย จากหลักฐานและข้อมูลที่พบนั้นสวนทางกับ
     คำกล่าวอ้างของเหล่าบริษัทผู้ผลิตเนื้อสัตว์หรือแม้กระทั่งธุรกิจต่าง ๆ ที่ใช้ไก่เป็นสินค้าหลักว่าไก่ในฟาร์มของพวกเขานั้นถูกเลี้ยงดูด้วยความเอาใจใส่ มีความสุข และสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง
      ความต้องการบริโภคโปรตีนจากเนื้อสัตว์ที่สูงขึ้นของผู้บริโภคนำไปสู่การเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่องของ ฟาร์มอุตสาหกรรม การเลี้ยงไก่เนื้อจึงกลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และเป็นสัตว์ฟาร์มที่มีจำนวนมากที่สุดในโลก ไก่เนื้อมากกว่า 2 ใน 3 หรือจำนวนมากถึง 100,000 ตัว ถูกเลี้ยงอย่างแออัดในโรงเรือน โดยเฉลี่ยไก่แต่ละตัวอยู่ในพื้นที่เล็กกว่ากระดาษขนาด A4 อีกทั้งมีการคัดเลือกสายพันธุ์ (Genetic Selection) ที่นำมาเลี้ยงเป็นไก่สายพันธุ์เร่งโต ซึ่งในปัจจุบันนี้ใช้ระยะเวลาเลี้ยงไก่ลดลงถึง 2 เท่าเมื่อเทียบกับเมื่อ 40 ปีที่ผ่านมา 
จากข้อมูลแดชบอร์ดที่จัดทำโดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ในปี พ.ศ. 2566 เปิดเผยว่าประเทศไทยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อมากกว่า 3 หมื่นราย ในแต่ละปีมีผลผลิตไก่เนื้อประมาณ 3 ล้านตัน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาคกลางร้อยละ 50.8 ของผลผลิตทั้งประเทศ รองลงมาคือ ภาคตะวันออก ร้อยละ 20.0 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 14.7 ทำให้ไทยส่งออกไก่เนื้อและผลิตภัณฑ์เป็นอันดับ 4 ของโลก 
     ในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ.2565 องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกและทีมงาน We Animals Media ได้ทำการสำรวจและสืบหาข้อเท็จจริง โดยสุ่มลงพื้นที่ทำฟาร์มไก่อุตสาหกรรมแบบพันธะสัญญาในภาคกลางและภาคตะวันออกของประเทศไทยที่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งเลี้ยงไก่เพื่อส่งให้ผู้ค้าปลีกและร้านอาหารต่าง ๆ สำหรับตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยฟาร์มแต่ละแห่งเลี้ยงไก่ที่มีอายุระหว่าง 11 ถึง 30 วัน จำนวน 20,000 ถึง 30,000 ตัว พบหลักฐานและข้อมูลที่เผยให้เห็นถึงสวัสดิภาพไก่ที่เลวร้ายดังที่ได้ปรากฏในรายงาน “สูตรลับที่แท้จริง: เผยความลับที่ซ่อนอยู่ในการผลิตเนื้อไก่”  
     อรกร ธนชลกรณ์ หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย  กล่าวว่า "เราต้องการนำหลักฐาน ซึ่งเป็นวิดีโอและภาพเหล่านี้ออกมา เพื่อเผยแพร่ให้คนไทยได้เห็นถึงสภาพความโหดร้ายทารุณที่มีอยู่จริงในฟาร์มอุตสาหกรรมไก่ การใช้สายพันธุ์ไก่แบบเร่งโตคือจุดแรกเริ่มของความโหดร้ายทารุณ ทำให้ไก่เติบโตอย่างรวดเร็ว สร้างความเจ็บปวดทางจิตใจ และการเจ็บป่วย และบาดเจ็บทางร่างกายที่รวมถึงความล้มเหลวของระบบหายใจ ความผิดปกติของขา กระดูกแตกหัก แผลเรื้อรังที่ผิวหนัง และการตายอย่างเฉียบพลัน อีกทั้ง ไก่เหล่านี้ยังไม่สามารถแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ได้ตามธรรมชาติเพราะร่างกายที่ใหญ่โตอย่างผิดปกติ ทำได้แค่เพียงการนั่งหรือยืนอยู่บนมูลของตัวเองจนกระทั่งวินาทีสุดท้ายของชีวิตที่ถูกฆ่ามาเป็นอาหารของมนุษย์"
     ถึงเวลาแล้วที่อุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์ต้องเปลี่ยนแปลง บริษัทต่าง ๆ เกือบ 600 แห่งจากหลายประเภทธุรกิจทั่วโลก เช่น ผู้ผลิตอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านอาหาร ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงเรื่องความมุ่งมั่นในการเพิ่มสวัสดิภาพของไก่ หรือ “Better Chicken Commitment”  ทั้งนี้ KFC ซึ่งเป็นแบรนด์ผู้ค้าไก่ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดอันดับหนึ่งของประเทศไทย และมีสาขามากถึง 25,000  สาขาทั่วโลก   โดยในทวีปยุโรปมี 8 ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร, ไอร์แลนด์, เยอรมนี, เนเธอร์แลนด์, เบลเยียม, สวีเดน, เดนมาร์ก, และฝรั่งเศส ได้ร่วมลงนามไปแล้ว
     สำหรับ KFC ในประเทศไทย ที่มียอดจำหน่ายไก่ในประเทศประมาณ 25 ล้านชิ้นต่อเดือน  และได้เปิดสาขาที่ 1,000 ไปเมื่อไม่นานมานี้ อาสาสมัครฮีโร่พิทักษ์สัตว์และตัวแทนองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ได้เดินทางไปพบผู้บริหาร บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ KFC เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2566 
     ที่ผ่านมา เพื่อสื่อสารถึงความกังวลของข้อมูลในรายงาน “สูตรลับที่แท้จริง: เผยความลับที่ซ่อนอยู่ในการผลิตเนื้อไก่” พร้อมยื่นเสียงผู้บริโภคกว่า 40,000 รายชื่อ เพื่อเชิญชวนให้ร่วมเป็นส่วนสำคัญในการเป็นผู้นำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณภาพการเลี้ยงไก่ในฟาร์มอุตสาหกรรมให้ดีขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพของอาหารในจาน ที่จะต้องไม่ได้มาจากวิธีปฏิบัติที่โหดร้ายทารุณ 
     “ความทุกข์ทรมานของสัตว์ที่เป็นอาหารจะต้องไม่ใช่เรื่องปกติ แต่จะต้องเป็นเรื่องที่สังคมยอมรับไม่ได้ เราทุกคนต้องช่วยกันหยุดความโหดร้ายทารุณเหล่านี้ทันที และเริ่มต้นด้วยการร่วมเรียกร้องให้อุตสาหกรรมและธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน เข้าร่วมในข้อตกลงเรื่องความมุ่งมั่นในการเพิ่มสวัสดิภาพของไก่ หรือ Better Chicken Commitment เพื่อยกระดับนโยบายและแนวทางปฏิบัติด้านสวัสดิภาพไก่ให้ดีขึ้น และจะต้องมีการรายงานการดำเนินการตามความมุ่งมั่นดังกล่าวต่อสาธารณะเพื่อให้เกิดการติดตามและตรวจสอบได้อย่างโปร่งใส” โรจนา สังข์ทอง ผู้อำนวยการ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวปิดท้าย 
     ปัจจุบันนี้ แม้ว่าวิธีเลี้ยงไก่ในฟาร์มอุตสาหกรรมอาจจะสอดคล้องกับกฎหมายของประเทศไทยและนโยบายของบริษัทก็ตาม แต่กลับยังไม่สามารถทำให้ไก่ในฟาร์มได้มีชีวิตภายใต้สวัสดิภาพที่ดีได้ตลอดอายุขัย ดังนั้น บริษัทต่าง ๆ ที่ผลิตไก่เนื้อหรือที่เกี่ยวข้องกับไก่ในห่วงโซ่อุปทานตลอดทั้งสาย จะต้องยกระดับมาตรฐานสวัสดิภาพไก่ของตนและต้องมีหลักฐานการกระทำที่เปิดเผยสู่สาธารณะและพิสูจน์ได้จริง
**ภาพโดย :  Haig ,World Animal Protection ,We Animals Media
***************
อ้างอิงและสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 
1. ข้อมูลเศรษฐกิจการค้า-คิดค้า.com 
https://xn--42ca1c5gh2k.com/data/?tab=dashboard&_cat=chicken&_iframe_ids=57959
2. รายงานสูตรลับที่แท้จริงและวิดีโอ: เผยความลับที่ซ่อนอยู่ในการผลิตเนื้อไก่ https://realsecretrecipe.worldanimalprotection.or.th/ 
3. รายละเอียดเพิ่มเติม https://global.kfc.com/our-locations/ 
4. รายละเอียดเพิ่มเติม https://www.kfc.co.th/aboutus
###
เกี่ยวกับองค์กร 
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนระดับโลกมีสำนักงาน 14 แห่งทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยซึ่งได้มีการดำเนินการเพื่อปกป้องสัตว์จากความทุกข์ทรมาน มาเป็นเวลา 55 ปีโดยมุ่งเน้นการยกระดับ สวัสดิภาพสัตว์ และยุติการทุกข์ทรมาน และการทารุณกรรมสัตว์อย่างถาวร โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ ณ ประเทศอังกฤษ ที่ผ่านมาองค์กรฯ ได้ดำเนินกิจกรรมผ่านโครงการต่างๆ ในประเทศไทย อาทิ โครงการส่งเสริมระบบอาหารอย่างยั่งยืน โดยยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์ม การยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว  เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต ช้างไทยให้ดีขึ้นและเพื่อให้สัตว์ป่าทุกตัวได้มีโอกาสที่จะมีชีวิตอย่างมีอิสระตามธรรมชาติโดยตระหนักถึงความสำคัญ ของคุณภาพชีวิตสัตว์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพชีวิตมนุษย์ และสิ่งแวดล้อมอย่างเกื้อกูลกัน