About Me

header ads

วัชระส่งหลักฐานเด็ดให้ศาลทุจริตฯมัดแน่นสรศักดิ์-ชัชวาล ไม่ส่งเอกสารตามหมายเรียก

 

(25 พ.ย.65)นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ที่ห้อง 403 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้สืบพยานโจทก์ในคดีอาญาหมายเลขคดีดำที่ 22,23/2563

คดีอาญาหมายเลขคดีแดงที่ 33,34/2563

ระหว่างนายวัชระ เพชรทอง โจทก์

นายสรศักดิ์ เพียรเวช จำเลยที่ 1

นายชัชวาล อภิบาลศรี จำเลยที่ 2




นายวัชระ เพชรทอง โจทก์ ฟ้องนายสรศักดิ์  เพียรเวช อดีตเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร จำเลยที่ 1 นายชัชวาล อภิบาลศรี อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประธานคณะกรรมการเร่งรัดโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ จำเลยที่ 2 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.137,157 ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฎิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยทุจริต แจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน และขัดขืนหมายศาลให้ส่งเอกสารในการพิจารณาคดี โดยนายวัชระ โจทก์ได้บรรยายคำฟ้องว่า นายสรศักดิ์ เป็นหัวหน้าส่วนราชการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารราชการของสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบัญญัติ ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการ มีอำนาจสั่งการ อนุญาต และอนุมัติ และกระทำการแทนสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และยังได้รับการแต่งตั้งจากประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้เป็นคณะกรรมการเร่งรัดและติดตามโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ จำเลยซึ่งเป็นผู้ครอบครองเอกสารและได้รับหมายเรียกพยานเอกสารของศาลอาญา คดีอาญาหมายเลขดีที่ อ.838/2561 ระหว่างนายชัชวาล อภิบาลศรี โจทก์ และนายวัชระ เพชรทอง จำเลย ให้เร่งรัดส่งเอกสารที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยไปยังศาลอาญา เพื่อใช้ในการพิจารณาคดี ต่อมาเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 แต่นายสรศักดิ์ได้บังอาจแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา โดยมีหนังสือแจ้งว่า ไม่สามารถจัดส่งให้ได้ เนื่องจากไม่มีแถบบันทึกเสียงการประชุมของคณะกรรมการเร่งรัดและติดตามโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2561 ถือว่าเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ เพราะความจริงแล้วในการประชุมของคณะกรรมการเร่งรัดและติดตามโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ดังกล่าว ได้มีการบันทึกชวเลข แถบเสียง และบันทึกการประชุม โดยมีรายละเอียดผู้เข้าประชุม ผู้ไม่ได้เข้าประชุม วันเดือนปี ครั้งที่และข้อความที่ประชุม ซึ่งเป็นเอกสารราชการ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ. 2526 จำเลยซึ่งเป็นกรรมการและผู้เข้าร่วมการประชุม เป็นผู้ครอบครองเอกสารดังกล่าว และทราบดีว่าต้องมีการบันทึกชวเลข แถบเสียง หรือรายงานชวเลข และบันทึกการประชุมไว้และต้องเก็บรักษาไว้ที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตามกฎหมาย แต่กลับแจ้งความเท็จว่าไม่มีการบันทึกการประชุม เพื่อเป็นเหตุไม่ต้องส่งเอกสารดังกล่าวต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ตามหมายเรียกพยานเอกสารข้างต้น ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือนายชัชวาล อภิบาลศรี ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการเร่งรัดและติดตามโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ และเพื่อมิให้นายวัชระ โจทก์ได้ใช้เอกสารดังกล่าว เป็นหลักฐานในการต่อสู้คดีในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.838/2561 ของศาลอาญาดังกล่าว ซึ่งมีนายชัชวาล อภิบาลศรี เป็นโจทก์ การกระทำของจำเลย เป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน และเป็นการจงใจขัดขืนหมายหรือคำสั่งศาลให้ส่งทรัพย์หรือเอกสารในการพิจารณาคดี และเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ผู้อื่นหรือประชาชน หรือปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย

จากผลการตรวจสอบปรากฎว่า

1.สำนักรายงานการประชุมและชวเลข มีหน้าที่จดและจัดทำรายงานการประชุมคณะกรรมการฯ แต่ไม่มีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้ข้อมูลดังกล่าว เนื่องจากไม่ใช่เจ้าของข้อมูลที่แท้จริง

2.รายงานการประชุมของคณะกรรมการเร่งรัดและติดตามโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เจ้าของข้อมูลที่แท้จริง คือ คณะกรรมการเร่งรัดและติดตามโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ซึ่งเกี่ยวกับสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (นายนัฑ ผาสุข เลขาธิการวุฒิสภา เป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการฯ)

3.สำนักรายงานการประชุมและชวเลข ได้ส่งมอบรายงานการประชุมฯ ของวันพุธที่ 7 มีนาคม 2561 และไฟล์เสียง (ในรูปแบบซีดี) ให้กับนางสาวสิรินทร์ญาภา จันทพิรักษ์ ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการเร่งรัดและติดตามโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่แล้ว เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563

โจทก์ชี้ช่องให้สืบพยานให้ศาลเห็นว่าจำเลยปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายมีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย

วันนี้สืบพยานโจทก์เสร็จจำนวน 2 ปากและอนุญาตให้โจทก์นำพยานบุคคลเข้าเบิกความจำนวนอีก 3 ปากในวันที่ 1  และ 14 กุมภาพันธ์ 2566

ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องทุกข้อหาโดยไม่ไต่สวนมูลฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบไม่เห็นพ้องด้วยบางส่วน และพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องเฉพาะในความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 157 


อนึ่ง ฐานความผิด มาตรา 137 ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 บัญญัติว่า "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่1 ปี ถึง 10 ปีหรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ