About Me

header ads

*วช. ร่วมกับ สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ถ่ายทอดเทคนิคการบินโดรนแปรอักษร แก่เยาวชนนักประดิษฐ์รุ่นใหม่*








วช. ร่วมกับ สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ จัดกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม “การอบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรเพื่อประยุกต์สู่การใช้งาน” ครั้งที่ 1 ให้กับเยาวชนนักประดิษฐ์ด้านการพัฒนาซอฟท์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับใช้งานโดรนในด้านต่าง ๆ 


วันที่ 3 มิถุนายน 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ จัดกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม “การอบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรเพื่อประยุกต์สู่การใช้งาน” ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 

3 - 5 มิถุนายน 2565 ณ ศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบิน และอวกาศ กองทัพอากาศ (ทุ่งสีกัน) ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเกี่ยวกับ “โดรนแปรอักษร” และการพัฒนาซอฟแวร์โดรนเพื่อนำไปประยุกต์ใช้งาน ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรม และนวัตกร ที่จะนำองค์ความรู้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน (Drone) ที่ได้รับมาพัฒนาต่อยอดและปรับใช้กับการทำงานในด้านต่าง ๆ ให้กับนักเรียน นักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในภาคกลาง โดยเป็นการอบรมบ่มเพาะเชิงบูรณาการ ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติและลงมือทำในสิ่งต่าง ๆ ในสภาพแวดล้อมจริง ได้ฝึกคิด ฝึกทำ ฝึกทักษะ ฝึกปฏิบัติด้วยตนเองผ่านกิจกรรม “โดรนแปรอักษร” โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมฯ และมี พลอากาศตรีสรรพชัย ศิลานิล รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบิน และอวกาศ กองทัพอากาศ นาวาอากาศเอก รณชิต วิจิตร นายทหารปฏิบัติการประจำกรมกำลังพลทหารอากาศ ช่วยราชการศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบินและอวกาศ กองทัพอากาศ และผู้ทรงคุณวุฒิ วช. เข้าร่วมในพิธีเปิดการอบรมฯ ด้วย หลังจากพิธีเปิดกิจกรรมฯ ได้มีการโชว์บินโดรนแปรอักษร จำนวน 300 ลำ อีกด้วย


ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม “การอบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรเพื่อประยุกต์สู่การใช้งาน” ครั้งที่ 1 เป็นภารกิจที่สำคัญของ วช. ภายใต้กระทรวง อว. ในการพัฒนานักประดิษฐ์ และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับประดิษฐ์กรรม และงานวิจัย ส่วนงานนี้คือการบ่มเพาะตั้งแต่ระดับเยาวชน ซึ่ง วช. ได้ที่กิจกรรมลักษณะนี้ต่อเนื่องมาหลายปีแล้วตั้งแต่ช่วงฝึกอบรมให้เข้าใจในเรื่องของโดรน ตอนนี้เรื่องของโดรนแปรอักษรเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการตอบรับได้รับความสนใจจากภาครัฐ และภาคประชาชนเป็นอย่างมาก ฐานความรู้ของเยาวชนน่าจะมีการบ่มเพาะ และก็ส่งเสริมตั้งแต่ในช่วงของการเริ่มต้น หลังจากการอบรมก็จะสามารถต่อยอดเข้าสู่วิทยาการในระดับสถาบันการศึกษาที่สูงขึ้นต่อไป ในอนาคตจะมีการสร้างแรงจูงใจ สร้างสิ่งที่เป็นแรงกระตุ้นให้เยาวชนให้ความสนใจกับเทคโนโลยีที่สามารถพัฒนาบ่มเพาะได้ด้วยตัวเอง ตั้งแต่การประเมิน การวิเคราะห์ การเขียนซอฟแวร์ การเขียนโปรแกรม ภายหลังจากการอบรม วช. จะมีเวทีให้น้อง ๆ เยาวชน ที่ได้ร่วมกับสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ในการไปจัดกิจกรรมและร่วมออกแบบซอฟแวร์ที่จะแปรอักษรในพื้นที่ต่าง ๆ วช. ได้ให้การสนับสนุนสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ โดยการจัดอบรมในภาคกลางครอบคุมพื้นที่ประมาณ 18 ถึง 20 จังหวัด ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 1 และยังจะจัดขึ้นอีก 3 ครั้ง รวมเป็น 4 ครั้ง 


ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวอีกว่า วช. หวังว่าจะมีเยาวชนที่เข้าสู่กิจกรรมในระดับตั้งแต่มัธยม ระดับอาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา ที่จะมีความรู้ ความสามารถ มีความเข้าใจในการเขียนซอฟแวร์พัฒนาการแปรอักษรในการใช้โดรนเข้าร่วมในอนาคต ถือเป็นการพัฒนาและสร้างกำลังคนตั้งแต่ระดับขั้นต้น ในขั้นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และก็หวังว่าเยาวชนเหล่านี้จะต่อยอดในการที่จะเป็นนักเทคโนโลยีที่มีความสามารถในเรื่องโดรนต่อไปในอนาคต


ด้าน นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ กล่าวว่า สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ได้รับการสนับสนุนทุนอุดหนุนการจัดกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมจาก วช. เพื่อให้พัฒนาด้านการศึกษา การพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ให้เกิดการสร้างนวัตกรรมที่หลากหลายและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ซึ่งเป็นผู้นำด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับโดรน (Drone) ในประเทศไทย ที่ประสบผลสำเร็จในการคิดค้นและพัฒนาซอฟต์แวร์การสั่งงาน “โดรนแปรอักษร” ที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย กล่าวได้ว่าเป็น “โดรนแปรอักษร” ฝีมือคนไทย และเป็นนวัตกรรมหนึ่งเดียวในอาเซียน และ 

1 ใน 9 ของโลก เป็นการยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีของคนไทยให้ก้าวล้ำไปอีกขั้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นเทคโลโลยีที่ทัดเทียมหรือเทียบเท่ากับต่างประเทศ การอบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรเพื่อประยุกต์สู่การใช้งาน 

จะจัดการอบรมในภาคกลาง จำนวน 4 ครั้ง ที่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดเพชรบุรี อบรมครั้งละ 50 คน รวมจำนวนผู้เข้าอบรมรวมทั้งสิ้น 200 คน