นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงการตรวจตัวอย่างอาหาร น้ำ และเครื่องดื่มที่เก็บมาจากอาศรมฤาษีพระบิดา ตั้งอยู่ที่บ้านกุดแคนหมู่ที่ 2 ตำบลดงกลาง อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิ สาธารณสุขอำเภอคอนสาร และโรงพยาบาลคอนสาร ได้เก็บตัวอย่างส่งมาตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 9 นครราชสีมา รวมทั้งหมด 36 ตัวอย่าง (ครั้งแรก 26 ตัวอย่างและส่งมาเพิ่มอีก 10 ตัวอย่าง) เพื่อตรวจหาเชื้อก่อโรค วัตถุเจือปนอาหาร และสารพิษ ผลการตรวจ มีดังนี้
ผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างเครื่องดื่มผลไม้รวม และน้ำส้ม 25% จำนวน 2 ตัวอย่าง พบว่า ผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 356 (พ.ศ.2556) เรื่อง เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท และฉบับที่ 416 (พ.ศ.2563) เรื่อง กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน หลักเกณฑ์เงื่อนไข และวิธีการในการตรวจวิเคราะห์ของอาหารด้านจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค
ส่วนผลการตรวจตัวอย่างน้ำจากน้ำในถังสแตนเลส และถังน้ำต่างๆ ในพื้นที่อาศรม จำนวน 3 ตัวอย่าง ตรวจพบเชื้ออีโคไล (E.coli) และโคลิฟอร์ม (Coliforms) เกินมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข
ฉบับที่ 61 (พ.ศ.2524) และฉบับที่ 135 (พ.ศ.2534) เรื่อง น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท โดยเชื้ออีโคไล และโคลิฟอร์มเป็นเชื้อแบคทีเรียที่เป็นดัชนีบ่งชี้การปนเปื้อนอุจจาระ สาเหตุก่อโรคทางเดินอาหาร ท้องเสีย และอาหารเป็นพิษ
สำหรับผลการตรวจสอบคุณภาพข้าวเกรียบปลาทู ถั่วลันเตาคลุกเกลือ ปลาหมึกแห้ง จำนวน 3 ตัวอย่าง พบว่า ไม่ผ่านเกณฑ์คุณภาพทางจุลชีววิทยาของอาหารและภาชนะสัมผัสอาหารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
ฉบับที่ 3 สาเหตุเนื่องจากในตัวอย่างข้าวเกรียบปลาทู ถั่วลันเตาคลุกเกลือ และปลาหมึกแห้ง ตรวจพบเชื้อรา เกินมาตรฐานกำหนด
ส่วนตัวอย่างปลาร้าบองแมงดา ปลาร้า ชาสมุนไพร และน้ำ อีกจำนวน 28 ตัวอย่าง อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจวิเคราะห์
“จากผลการตรวจวิเคราะห์ที่ได้ ชี้ให้เห็นว่า ตัวอย่างอาหาร และน้ำมีหลายรายการที่ไม่ได้มาตรฐาน ด้านจุลชีววิทยาตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข และเกณฑ์คุณภาพทางจุลชีววิทยาของอาหารและภาชนะสัมผัสอาหารของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เนื่องจากตรวจพบจุลินทรีย์ที่ใช้ในการบ่งชี้คุณภาพของอาหาร สุขลักษณะการผลิต ความปลอดภัยของอาหาร ได้แก่ เชื้ออีโคไล โคลิฟอร์ม และเชื้อรา ดังนั้นจึงควรเลี่ยงการบริโภคอาหาร น้ำและเครื่องดื่มจากอาศรมฤๅษีพระบิดา เพราะอาจมีความเสี่ยงต่อสุขภาพและก่อให้เกิดโรคได้” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว
************************** 23 พฤษภาคม 2565