About Me

header ads

สว.จำลอง อนันตสุข นำสองสมาชิกวุฒิสภาเลือดสุพรรณร่วมงานเสวนา “สุพรรณบุรี เมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี” พร้อมเป็นประธานเปิดโครงการประกวดการขับร้องเพลงลูกทุ่ง เฉพาะงานเพลงของ สายัณห์ สัญญา

 สว.จำลอง อนันตสุข นำสองสมาชิกวุฒิสภาเลือดสุพรรณร่วมงานเสวนา “สุพรรณบุรี เมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี” พร้อมเป็นประธานเปิดโครงการประกวดการขับร้องเพลงลูกทุ่ง เฉพาะงานเพลงของ สายัณห์ สัญญา 



เมื่อวันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา ณ ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน สุพรรณบุรี สมาคมวิทยุกระจายเสียงสุพรรณบุรี นำโดย นายธนัท ประสานวงษ์ นายกสมาคมวิทยุกระจายเสียงสุพรรณบุรี คุณปรัศนีย์ ประกายเกศ ผจก.ฝ่ายขาย ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน สุพรรณบุรี พร้อมด้วยครอบครัวของสายัณห์ สัญญา ได้จัดโครงการประกวดการขับร้องเพลงลูกทุ่ง เฉพาะงานเพลงของ สายัณห์ สัญญา เพื่อสืบทอด และอนุรักษ์บทเพลงของอดีตราชาเพลงลูกทุ่ง ชาวสุพรรณบุรีเจ้าของฉายา “แหบมหาเสน่ห์” ที่ได้จากไปเมื่อ11 ปีที่ผ่านมา โดย ดร.จำลอง อนันตสุข สมาชิกวุฒิสภา ได้เป็นประธานในพิธีเปิด นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการสืบสานและอนุรักษ์มรดกทางดนตรีไทย โดยเฉพาะเพลงลูกทุ่ง  




ภายในงานก่อนจะเริ่มการประกวด ก็ได้จัดวงเสวนาในหัวข้อเรื่อง “สุพรรณบุรี เมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี” โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ สมาชิกวุฒิสภาของสุพรรณบุรีทั้งสามคน นำโดย ดร.จำลอง อนันตสุข ,นายชูชาติ อินสว่าง และนายศรายุทธ ยิ้มยวน พร้อมด้วยนางสาวนิษฐกานต์ คุณวัชระกิจ วัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี 


ในงานเสวนา ผู้เข้าร่วมได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับศักยภาพของจังหวัดสุพรรณบุรีในด้านดนตรี รวมถึงแนวทางในการพัฒนาและส่งเสริมให้สุพรรณบุรีเป็นเมืองแห่งดนตรีที่สำคัญของประเทศ โดยมีการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการอนุรักษ์วัฒนธรรมเพลงลูกทุ่งของประเทศไทยและความพร้อมของจังหวัดสุพรรณบุรีที่มีรากฐานทางวัฒนธรรมด้านดนตรีที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว 



ดร.จำลอง กล่าวว่า “โครงการนี้จะช่วยส่งเสริมให้สุพรรณบุรีเป็นเมืองดนตรีที่น่าสนใจ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนมากขึ้น และการสืบสานผลงานของ สายัณห์ สัญญา ผู้เป็นตำนานเพลงลูกทุ่งของไทย ก็จะทำให้เพลงลูกทุ่งคงอยู่คู่คนไทยตลอดไป  ซึ่งการจัดงานเสวนาและโครงการประกวดในครั้งนี้ ถือเป็นการตอกย้ำความสำคัญของการส่งเสริมให้จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์ด้านดนตรี ก็จะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของจังหวัดในระยะยาว 


“สิ่งสำคัญที่สุดคือการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์และพัฒนาให้สุพรรณบุรีเป็นเมืองแห่งดนตรีที่ยั่งยืน นอกจากนี้ การประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไปรู้จักสุพรรณบุรีในฐานะเมืองดนตรี ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน อาทิ การจัดงานดนตรีระดับจังหวัดและระดับชาติ การสร้างเส้นทางท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับดนตรี จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้กับชุมชน” ดร.จำลอง กล่าวในตอนท้าย