จอมพลังไทยเปิดตัวสวย คว้า 1 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง กระหึ่ม “ปารีส 2024” โดยประเดิมเหรียญเงินจาก “ฟ่าง” ธีรพงศ์ ศิลาชัย จอมพลังหนุ่มวัย 20 ปี จาก จ.ศรีสะเกษ โชว์ฟอร์มสุดยอด ยกผ่านรวดทั้ง 6 ลิฟต์ รุ่น 61 กิโลกรัมชาย ทำสถิติน้ำหนักรวม 303 กิโลกรัม นับเป็นสถิติที่ดีที่สุดในชีวิต และเป็นเหรียญรางวัลโอลิมปิกเหรียญแรกของทัพยกเหล็กไทยในรอบ 8 ปี ขณะที่แคมป์เชียงใหม่-บ้านเกิด รวมตัวเชียร์คึกคัก รับเงินอัดฉีดแล้ว 10.1 ล้านบาท ด้าน “ออย” สุรจนา คำเบ้า สู้สุดใจเบียดคว้าเหรียญทองแดง รุ่น 49 กิโลกรัมหญิง รับเงินอัดฉีดแล้ว 7.02 ล้านบาท โดยทีมไทยยังได้ลุ้นต่อจาก “เวฟ” วีรพล วิชุมา รุ่น 73 กิโลกรัมชาย แข่งขันคืนวันที่ 8 ส.ค. เวลา 00.30 น. (เช้า 9 ส.ค.)
การแข่งขันกีฬายกน้ำหนัก ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ “ปารีส 2024“ ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 7 ส.ค.67 ประเดิมชิงชัยวันแรก ทีมไทยส่งจอมพลังชิงชัย 2 รุ่น เริ่มต้นด้วย ”ฟ่าง“ ธีรพงศ์ ศิลาชัย รุ่น 61 กิโลกรัมชาย วัย 20 ปีลงชิงชัยโอลิมปิกสมัยแรก ดีกรี 2 เหรียญทอง รุ่น 55 กิโลกรัมชาย ยกน้ำหนักชิงชนะเลิศแห่งโลก ปี 2565 ที่ประเทศโคลอมเบีย ล่าสุดคว้า 1 เหรียญเงิน จากรายการ ยกน้ำหนัก “เวิลด์ คัพ” เมื่อเดือน เม.ย.67 ที่ จ.ภูเก็ต
สำหรับรุ่นนี้มีนักกีฬายอดฝีมือลงชิงชัยมากมาย นำโดย ลี ฟาบิน เจ้าของเหรียญทองและสถิติโอลิมปิก 313 กิโลกรัม ซึ่งทำไว้ในศึก “โตเกียว 2020” และ เจ้าของสถิติโลก 318 กิโลกรัม ทำไว้เมื่อปี ค.ศ.2019 ที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี นอกจากนี้ ยังมี เอโค อิราวัณ จอมเก๋าวัย 35 ปี จากอินโดนีเซีย เจ้าของเหรียญเงิน “โตเกียว 2020” ลงชิงชัยด้วย
ท่าสแนทช์ ธีรพงศ์ ออกสตาร์ทได้ดี ยกผ่านครั้งแรกที่ 127 กิโลกรัม, ครั้งที่ 2 ยกผ่านที่ 130 กิโลกรัม, ครั้งที่ 3 ยกผ่านที่ 132 กิโลกรัม จบที่ 3 ในท่านี้ ส่วนที่ 1 เป็นของ ลี ฟาบิน จากจีน 143 กิโลกรัม ทำลายสถิติมาตรฐานโอลิมปิกที่วางไว้ 142 กิโลกรัม และ ที่ 2 เอโค อิราวัณ จากอินโดนีเซีย 135 กิโลกรัม
ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก ธีรพงศ์ ยกผ่านครั้งแรกที่ 167 กิโลกรัม, ครั้งที่ 2 ยกผ่านที่ 169 กิโลกรัม, ครั้งที่ 3 ยกผ่านที่ 171 กิโลกรัม ทำให้สถิติน้ำรวมอยู่ที่ 303 กิโลกรัม คว้าเหรียญเงินไปครอง ถือเป็นผลงานที่ยอดเยี่ยมของ ธีรพงศ์ ที่ยกผ่านรวดทั้ง 6 ลิฟต์ และยังสถิติที่ดีที่สุดของตัวเอง หลังจากเคยทำสถิติน้ำรวมของตัวเองดีที่สุดอยู่ที่ 299 กิโลกรัม ส่วนเหรียญทอง เป็นของ ลี ฟานบิน จากจีน 310 กิโลกรัม (143-167) และเหรียญทองแดง เป็นของ มอร์ริส แฮมป์ตัน จากสหรัญฐอเมริกา 298 กิโลกรัม (126-172)
สำหรับเงินรางวัล ที่ ธีรพงษ์ ศิลาชัย ได้รับ จากการคว้าเหรียญเงิน มาจาก กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ การกีฬาแห่งประเทศไทย 7.2 ล้านบาท (จ่ายเป็นเงินก้อนอัตราร้อยละ 50 ส่วนอีกร้อยละ 50 แบ่งจ่ายเป็นรายเดือนในระยะเวลา 4 ปี), เงินเดือนจากคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ เดือนละ 10,000 บาท เป็นเวลา 20 ปี เป็นเงิน 2.4 ล้านบาท และจาก บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) 5 แสนบาท รวมเป็นเงิน 10.1 ล้านบาท
จากการคว้าเหรียญเงินของ “ธีรพงศ์” นับเป็นเหรียญโอลิมปิกเหรียญแรกของสมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทยในรอบ 8 ปี หลังจากคว้า 2 เหรียญทอง, 1 เหรียญเงิน, 1 เหรียญทองแดง ในโอลิมปิก “รีโอเกมส์ 2016“ และเป็นนักกีฬายกน้ำหนักชายคนที่ 2 ที่คว้าเหรียญรางวัลในโอลิมปิกเกมส์ ต่อจาก สินธุ์เพชร กรวยทอง เคยได้เหรียญทองแดง ที่ “รีโอเกมส์ 2016”
ทั้งนี้ "เสธ.ยอด" พลตรี อินทรัตน์ ยอดบางเตย นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย "มาดามบุษ" นางบุษบา ยอดบางเตย ประธานที่ปรึกษาฯ, นายปรัชญา กีรตินันท์ นายกสมาคมฯ, พลเอก วิสุทธิ์ เดชสกุล เลขาธิการสมาคมฯ, พลอากาศโท วัฒนชัย เจริญรัตน์ กรรมการและประธานฝ่ายเทคนิค, นายสมโภชน์ ยิ้มพลอย กรรมการและประธานฝ่ายจัดการแข่งขัน รวมถึง ดร.นิวัตน์ ลิ้มสุขนิรันดร์ อธิบดีกรมพลศึกษา ในฐานะ กรรมการบริหารสหพันธ์ยกน้ำหนักแห่งเอเชีย ได้ร่วมชมการแข่งขันติดขอบสนามด้วย
นอกจากนี้ ที่ศูนย์ฝึกกีฬายกน้ำหนัก ภายในกองพันพัฒนาที่ 3 จังหวัดเชียงใหม่ นักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติไทยได้ร่วมชมการถ่ายทอดสดส่งกำลังใจให้ทัพจอมพลังไทย เช่นเดียวกับ ครอบครัวของ ธีรพงศ์ ที่รวมตัวกันเชียร์อยู่ที่บ้านกระเบาเดื่อ ต.กระหวัน อ.ขุนหาญ จ.ศรีษะเกษ
ต่อมารุ่น 49 กิโลกรัมหญิง ไทยส่ง “ออย” สุรจนา คำเบ้า อายุ 24 ปี จาก จ.ชลบุรี เจ้าของ 3 เหรียญทอง ยกน้ำหนักชิงชนะเลิศแห่งโลก ปี 2564 ที่กรุงทาชเคนท์ ประเทศอุซเบกิสถาน ลงลุ้นเหรียญรางวัลโอลิมปิกสมัยแรก โดยรุ่นนี้มีจอมพลังดาวดังชิงชัยหลายคน ไม่ว่าจะเป็น ฮัว จือ ฮุย จากจีน เจ้าของเหรียญทอง โอลิมปิก “โตเกียว 2020“ และในครั้งนั้นได้ทำสถิติโอลิมปิกไว้ที่ 210 กิโลกรัม รวมทั้ง ไซคอม มิราไบ ชานุ จากอินเดีย ดีกรีเหรียญเงิน โอลิมปิก ”โตเกียว 2020“
ท่าสแนตช์ สุรจนา ยกผ่านครั้งแรกที่ 86 กิโลกรัม จากนั้นครั้งที่ 2 เรียกเหล็ก 88 กิโลกรัม แต่จังหวะดันเหล็กขึ้นล็อกแขนไม่อยู่ ทำให้เหล็กตกหลัง ก่อนจะออกมาแก้ตัวสำเร็จในครั้งที่ 3 ที่น้ำหนักเดิม ทำให้สถิติอยู่ที่ 88 กิโลกรัม เท่ากับ ไซคอม มิราไบ ชานุ จากอินเดีย ส่วน ฮัว จือ ฮุย จากจีน ยกได้ 89 กิโลกรัม และ มิเฮลา วาเลนตินา คัมเบ จากโรมาเนีย ยกได้ 93 กิโลกรัม ทำให้ต้องลุ้นแย่งเหรียญกันต่อในท่าคลีนแอนด์เจิร์ก
ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก สุรจนา ครั้งแรกยกผ่านที่ 110 กิโลกรัม, ครั้งที่ 2 ยกผ่านที่ 112 กิโลกรัม และครั้งที่ 3 เรียกเหล็ก 114 กิโลกรัม แต่ยกไม่ผ่าน ทำให้สถิติน้ำหนักรวมอยู่ที่ 200 กิโลกรัม คว้าเหรียญทองแดงสำเร็จ โดย เหรียญทอง เป็นของ ฮัว จือ ฮุย จากจีน สถิติ 206 กิโลกรัม (89-117) ทำลายสถิติท่าคลีนแอนด์เจิร์กโอลิมปิกองตัวเอง ที่เคยทำไว้ 116 กิโลกรัม ในโอลิมปิก “โตเกียว 2020“ และเหรียญเงิน มิเฮลา วาเลนตินา คัมเบ จากโรมาเนีย 205 กิโลกรัม (93-112)
สำหรับเงินรางวัล ที่ สุรจนา คำเบ้า ได้รับจากการคว้าเหรียญทองแดง มาจาก กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ การกีฬาแห่งประเทศไทย 4.8 ล้านบาท (จ่ายเป็นเงินก้อนอัตราร้อยละ 50 ส่วนอีกร้อยละ 50 แบ่งจ่ายเป็นรายเดือนในระยะเวลา 4 ปี), เงินเดือนจากคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ เดือนละ 8,000 บาท เป็นเวลา 20 ปี เป็นเงิน 1.92 ล้านบาท และจาก บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) 3 แสนบาท รวมเป็นเงิน 7.02 ล้านบาท
สรุปผลงานจอมพลังไทยใน “ปารีส 2024” ประเดิมวันแรกสุดหรูคว้าไป 1 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง
สำหรับโปรแกรมการแข่งขันของนักกีฬายกน้ำหนัก มีดังนี้ คืนวันที่ 8 ส.ค.67 (เช้า 9 ส.ค.67) เวลาไทย 00.03 น. “เวฟ” วีรพล วิชุมา รุ่น 73 กิโลกรัมชาย และ วันที่ 11 ส.ค.67 เวลาไทย 16.30 น. “สัม” ดวงอักษร ใจดี รุ่นมากกว่า 81 กิโลกรัมหญิง ติดตามการถ่ายทอดสดทางช่อง 7HD (35), 9 MCOT HD (30), PPTV HD 36, True ,T-Sports (7) และ AIS Play