About Me

header ads

ผลงานการขับเคลื่อนโครงการ TO BE NUMBER ONE ระดับกรุงเทพมหานครปี 2567

 

สู่ความยั่งยืนในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด




 นับแต่เริ่มโครงการ TO BE NUMBER ONE ในปี 2545 กรุงเทพมหานคร ในฐานะหนึ่งในหน่วยงานหลักของโครงการฯ ได้ดำเนินงานสนองแนวพระดำริของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีองค์ประธานโครงการฯมาอย่างต่อเนื่อง ถึงวันนี้การดำเนินงานมีพัฒนาการและมีความก้าวหน้ามาโดยลำดับ เริ่มจากการขับเคลื่อนงานประเภทชมรม TO BE NUMBER ONE ในชุมชนและได้ส่งผลงานเข้าประกวดตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ขณะเดียวกันก็ได้พัฒนาระบบ การบริหารจัดการผ่านสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เพื่อเอื้อต่อการบูรณาการขับเคลื่อนงานโครงการ TO BE NUMBER ONE ระดับกรุงเทพมหานครประเภทต่างๆ และในปีที่ผ่านมาได้จัดการประกวดผลงานประเภทเขต TO BE NUMBER ONE เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งประเภท นับเป็นอีกก้าวสำคัญของการพัฒนาการดำเนินงาน ภายใต้โครงการ TO BE NUMBER ONE  

 จากเวทีการนำเสนอผลงานโครงการ TO BE NUMBER ONE ระดับกรุงเทพมหานคร ประจำปี2567 ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 25-26 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา มีตัวแทนจาก 3 เขตได้มาบอกกล่าวถึงผลงานการขับเคลื่อนโครงการ TO BE NUMBER ONE 

 



เริ่มจากนาย ณัฐพงษ์ มีโภคกิจผู้อำนวยการเขตจอมทองในฐานะประธานโครงการ TO BE NUMBER ONE  เขตจอมทองกล่าวว่าเขตจอมทองได้ส่งผลงานประเภทเขต TO BE NUMBER ONE เข้าประกวดปีนี้เป็นปีที่ 2 และเป็นหนึ่งใน11 เขตที่ได้ผ่านเข้ารอบระดับประเทศ โดยมองว่าปัจจัยความสำเร็จของเขตจอมทองมาจากองค์ประกอบของโครงการ TO BE NUMBER ONE ที่ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่ายในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เช่นในสถานศึกษาที่อยู่ในสังกัดกรุงเทพมหานคร เช่น โรงเรียนวัดยายร่ม โรงเรียนโพธิ์ทอง และยังมีเครือข่ายในชุมชนวัดมงคลวนาราม รวมทั้งในสถานประกอบการต่างๆ มีการค้นหาผู้เสพ ผู้ติด ในชุมชน และมีระบบการส่งต่อผู้เสพ ผู้ติด เข้าบำบัดในคลินิกก้าวใหม่ มีการติดตามและเปิดพื้นที่ให้โอกาสสำหรับผู้ผ่านการบำบัด เช่น ทุนประกอบอาชีพ จัดหาสถานที่จำหน่ายสินค้า

  ในส่วนของการขยายเครือข่ายการดำเนินงานนั้นนอกจากขยายเครือข่ายในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครแล้วในชุมชนก็ยังได้วางเป้าหมายจะขยายเป็นชมรม TO BE NUMBER ONE ให้ได้ 11 ชุมชน จากพื้นที่เขตทั้งหมด 48 ชุมชน และในสถานประกอบการที่จะทำเพิ่มขึ้นในโรงงานที่มีศักยภาพความพร้อม และยังได้บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกรุงเทพมหานคร ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ ฯลฯ โดยมองว่าหัวใจของการขับเคลื่อนโครงการ TO BE NUMBER ONE สู่ความสำเร็จ คือ ความร่วมแรงร่วมใจของเครือข่ายทุกฝ่ายและการบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งทุกองค์ประกอบทั้งโรงเรียนชุมชน สถานประกอบการ ทุกฝ่ายล้วนมีความสำคัญที่จะช่วยกันผลักดันให้การดำเนินโครงการ TO BE NUMBER ONE สู่การป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดเกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน  




 ด้านนางพัสพงค์ นิ่มสำลีผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตบางบอนกล่าวว่าปีนี้เขตบางบอนส่งผลงานประเภทเขตเข้าประกวดเป็นปีแรก เป้าหมายส่วนหนึ่งคือต้องการให้ระดับผู้บริหารเห็นความสำคัญและต้องการพัฒนาขับเคลื่อนงานโครงการ TO BE NUMBER ONE ของเขตบางบอนไปสู่การเป็นตัวอย่าง เป็นแกนนำให้กับเยาวชน คนในชุมชนทุกกลุ่ม ทั้งสถานประกอบการ แรงงาน ได้เห็นว่าการแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องหันมาให้ความสนใจ และร่วมมือกันให้เขตบางบอนเป็นพื้นที่ปลอดยาเสพติดอย่างแท้จริง สำหรับการดำเนินงานของเขตบางบอนนั้นมองว่ามีจุดแข็งคือการพัฒนาเครือข่าย ซึ่งเขตได้มีการส่งชมรม TO BE NUMBER ONE ของเขตบางบอนเข้าร่วมการประกวดมาตั้งแต่ปี 2560 โดยน้องๆในชมรมมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ส่งต่อกันรุ่นต่อรุ่นมาจนถึงรุ่นนี้เป็นรุ่นที่ 8 แล้ว และได้มีการขยายไปยังชุมชนใกล้เคียงอีก 4 เครือข่าย ได้แก่ ชุมชนมั่นคง 133 ชุมชนคลองบางพรานพัฒนา ชุมชนหมู่บ้านมั่นคงวิมานทองและชมรม TO BE NUMBER ONE โรงเรียนพรหมราษฏร์รังสรรค์ และยังเตรียมจะขยายเพิ่มอีก 1 เครือข่าย คือโรงเรียนมัธยมบ้านนายเหรียญ มองว่าการทำงานโครงการ TO BE NUMBER ONE ในระดับเขตยังต้องอาศัยการบูรณาการร่วมกับส่วนงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกันให้มากขึ้นเพื่อเดินไปสู่เป้าประสงค์ความสำเร็จเดียวกัน คือการทำให้การป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน

 ขณะที่นางสุนิษา สุตะนนท์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม สำนักงานเขตวัฒนากล่าวว่าในส่วนของเขตวัฒนา ฝ่ายพัฒนาชุมชนฯจะดูแลงานชมรม TO BE NUMBER ONE ในชุมชนโดยให้การสนับสนุนเด็กและเยาวชนในชุมชนมาร่วมกันทำกิจกรรม ตามหลักยุทธศาสตร์ 3ก 3 ย และมีการส่งผลงานเข้าประกวดทั้งในระดับกรุงเทพมหานครและระดับประเทศ โดยทำงานร่วมกับสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกรุงเทพมหานคร กองทุนแม่ของแผ่นดิน สภาเด็กและเยาวชนเขต ปัจจุบันเขตวัฒนามีชุมชนที่อยู่ในโครงการ TO BE NUMBER ONE แล้ว 7 ชุมชน ซึ่งการขยายเครือข่ายจะใช้วิธีพี่สอนน้อง ผ่านเครื่องมือคือสภาเด็กและเยาวชน เช่น เมื่อสภาเด็กจัดงานเราจะนำเด็กในชมรมฯมาร่วมกิจกรรม หรือมีการประชุมคณะกรรมการชุมชน เวลาลงพื้นที่ก็จะแนะนำโครงการ TO BE NUMBER ONE เพื่อสร้างเครือข่าย มองว่าการมีโครงการ TO BE NUMBER ONE ในกรุงเทพมหานครเป็นประโยชน์สำหรับเด็กและเยาวชนอย่างมาก โดยเฉพาะถ้าสามารถนำโครงการเข้าไปในสถานศึกษาได้อย่างครอบคลุมทุกพื้นที่ก็จะมีความยั่งยืนมากขึ้น  

-----------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                                                      วันที่ 13 มิถุนายน2567