14 มิถุนายน 2567 นายวัชระ เพชรทอง อดีตสส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ไปยื่นหนังสือถึงนายอำนาจ เจตเจริญรักษ์ อัยการสูงสุด ผ่านงานสารบรรณ ลงเลขรับที่ 24056/2567 เวลา 13.20 น.
หนังสือของนายวัชระ ระบุว่า
เรื่อง ขอตั้งข้อสังเกตการยื่นของความเป็นธรรมของนายทักษิณ ชินวัตร ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 อ้างว่าพนักงานสอบสวนถูกข่มขู่จากผู้มีอำนาจในยุคนั้น
ตามที่พี่น้องประชาชนทั้งประเทศจับจ้องมองการทำงานของสำนักงานอัยการสูงสุดว่าจะดำเนินการอย่างไรกับนายทักษิณ ชินวัตร ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 และขณะนี้นายทักษิณ ชินวัตร ปัจจุบันเป็นนักโทษหมายเลข 6650102668 คดีทุจริตถูกจำคุก 1 ปี อยู่ในระหว่างการพักโทษให้ไปถูกคุมขังที่บ้านจันทร์ส่องหล้า กำหนดพ้นโทษวันที่ 31 สิงหาคม 2567 สถานะในปัจจุบันจึงยังเป็นนักโทษตามกฎหมายกรมราชทัณฑ์นั้น
ปรากฏข้อเท็จจริงว่านางสาวแพทองธาร ชินวัตร (อุ๊งอิ๊ง) หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (บุตรสาวของผู้ต้องหา) ให้ข่าวว่า “คดีนี้เกิดขึ้นตอนที่มีปฏิวัติรัฐประหารรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งอัยการสูงสุดในขณะนั้น ถูกแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นายทักษิณยังบอกอีกว่า การขึ้นศาลก็ดีเหมือนกันเพราะจะได้พูดถึงข้อเท็จจริงได้ และจริง ๆ ส่วนตัวมองว่ามีการบิดเบือนความเป็นจริงตั้งแต่แรกที่ฟ้อง เรื่องนี้เรามั่นใจว่าไม่มีทางที่จะโดนคดีนี้ และนายทักษิณบอกว่าดีที่จะได้ขึ้นศาลเพราะจะได้อธิบายข้อเท็จจริงไปเลย คดีนี้ถูกฟ้องตอนปฏิวัติเสร็จใหม่ ๆ และย้ำว่าอัยการสูงสุดแต่งตั้งโดยคสช. ฉะนั้นก็พิจารณาเอาเอง”
และนายทักษิณ ชินวัตร กล่าวว่า
“คดี ม.112 ไม่เห็นมีอะไรเลย”
“...คดีนี้จะเป็นตัวอย่างให้คนเห็นว่าตอนปฏิวัติยัดข้อหาอย่างไร คดีนี้เป็นคดีที่ไม่มีมูลเลยแม้แต่นิดเดียว และพยายามที่จะนำไปตีความเพื่อให้มันมีมูลและเมื่อคนหนึ่งสั่งฟ้องคนอื่นก็ไม่กล้าที่จะสั่งไม่ฟ้อง เลยสั่งฟ้องซึ่งไม่ใช่หลักกฎหมาย จริง ๆ แล้วไม่มีอะไร...”
“...โอ๊ยไม่มีอะไรหรอก คดีแทบจะไม่มีมูลแบบนี้เขาเรียกว่าเป็นผลไม้ของต้นไม้ที่เป็นพิษ คือการทำคดีแต่ละข้อกล่าวหาตั้งแต่ต้นที่มีการข่มขู่ ตั้งแต่ในชั้นพนักงานสอบสวนโดยผู้บังคับบัญชา คดีไม่ควรเป็นคดี”
“...ผมไปอยู่เมืองนอก 17 ปี โดนยัดข้อหาทุกอย่าง โดนทุกรูปแบบ ถ้าผมไม่มีธรรมะของพระพุทธเจ้าผมก็คงตรอมใจหรือไม่ก็ฆ่าตัวตาย ซึ่งคนคนหนึ่งผมว่าไม่มีใครโดนมากเท่าผม และล่าสุดก็ยังมีควันหลงอยู่ สบายมากตรงนี้...”
ต่อมามีข่าวนายทักษิณ ชินวัตร ยื่นอัยการสูงสุดคัดค้านคำสั่งฟ้องคดีมาตรา 112 อ้างสาเหตุพนักงานสอบสวนถูกข่มขู่ โดยนายทักษิณ ชินวัตร กล่าวว่า
“พนักงานสอบสวนที่ทำสำนวน ถูกกดดันข่มขู่จากผู้มีอำนาจในยุคนั้น”
“ทำให้พนักงานสอบสวนไม่มีความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ กระบวนการได้มาซึ่งพยานหลักฐานจึงมิชอบด้วยกฎหมาย และมีความเบี่ยงเบนไปตามที่ผู้มีอำนาจต้องการ”
ทั้งนี้ขอตั้งข้อสังเกตการยื่นของความเป็นธรรมของนายทักษิณ ชินวัตร ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ดังนี้
1. ที่นายทักษิณอ้างพนักงานสอบสวนถูกข่มขู่จากผู้มีอำนาจ ถ้าถูกข่มขู่จริง ไม่ยินยอมที่จะกระทำตามก็ต้องรายงานผู้บังคับบัญชา ถ้าไม่รายงานก็มีความผิดทางวินัยและมีหลักฐานว่าถูกข่มขู่จริงหรือไม่หรือนำมากล่าวอ้างลอย ๆ เพื่อเรียกร้องขอความเห็นใจหรือเป็นเพียงเล่ห์เหลี่ยมเพื่อประวิงคดี จึงขอทราบว่า มีการข่มขู่ตามที่นายทักษิณ กล่าวอ้างหรือไม่ และสำนักงานอัยการสูงสุดควรแถลงเรื่องนี้ให้ประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริง เนื่องจากเป็นเรื่องใหญ่ ที่เป็นการกล่าวหาองค์กรเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมที่สำคัญของประเทศ หากไม่แถลงความจริงให้ประชาชนทราบ จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อกระบวนการยุติธรรมไทยอย่างร้ายแรงได้ว่า ดำเนินคดีหรือกระบวนการยุติธรรมภายใต้การถูกข่มขู่ บังคับ และหากไม่เป็นความจริง สำนักงานอัยการสูงสูดจะมีกระบวนการที่จะดำเนินคดีต่อผู้กล่าวหาหรือไม่ อย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อองค์กร
2. อัยการสูงสุด มีความเห็นสั่งฟ้องคดีนี้มาแล้วถึง 2 ท่าน ได้แก่ ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร และนายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ จึงย่อมไม่มีเหตุที่กลับคำวินิจฉัยอีก ประกอบกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3278/2522 ก็ได้มีคำพิพากษาเป็นบรรทัดฐาน และให้แนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้แล้ว จึงขอให้สำนักงานอัยการสูงสุด ดำเนินการตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกา และปกป้องพนักงานอัยการทุกท่านที่เกี่ยวข้อง
3. ผู้ต้องหามีประวัติการกระทำหมิ่นเหม่ในคดี ม.112 มาแล้ว 11 ครั้ง แสดงให้เห็นว่ามีพฤติกรรมซ้ำซาก ยากจะเปลี่ยนแปลงนิสัย อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องนายทักษิณมากผิดปรกติถึง 11 ครั้ง คงเหลือ 4 ครั้งขอให้สำนักงานอัยการสูงสุดแถลงชี้แจงประชาชนว่า เหตุใดอัยการสูงสุดที่ผ่านมาสั่งไม่ฟ้องคดี 112 ของนายทักษิณมากถึง 11 ครั้ง เพราะเหตุใด ใช้อำนาจทางการเมืองแทรกแซงหรือไม่และในยุคของอัยการสูงสุดชื่ออะไรบ้าง
4. ผู้ต้องหาประกาศต่อสาธารณะชนว่า “ถูกยัดเยียดข้อหา” ย่อมแสดงว่าไม่สำนึกในการกระทำ ไม่ยอมรับความจริง ไม่เป็นสุภาพบุรุษ ขัดหรือแย้งกับประกาศพระราชทานอภัยโทษ 1 กันยายน 2566 ที่ให้จำคุก 1 ปี เพราะยอมรับผิด สำนึกในการกระทำหรือไม่
5. สถานะปัจจุบัน ยังเป็นนักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร หมายเลข 6650102668 อยู่ระหว่างได้รับอนุญาตให้พักโทษที่บ้านจันทร์ส่องหล้าในซอยจรัญสนิทวงศ์ 71 ยังคงเป็นนักโทษแต่ไม่เคารพกฎหมาย เดินทางไปทั่วราชอาณาจักร
6. เคยมีประวัติการหลบหนีศาลฎีกาไปต่างประเทศนานถึง 17 ปี ไม่เคยเคารพกระบวนการยุติธรรม มีนายพิชิต ชื่นบาน กับพวกถือถุงขนมใส่เงินสด ๒ล้านติดสินบนเจ้าหน้าที่ศาลฎีกา แม้มีพระราชอภัยโทษให้จำคุก 1 ปี แต่ข้อเท็จจริงไม่เคยติดคุกจริงแม้แต่วันเดียว และจากรายงานข่าวของสื่อมวลชนพบว่า นายทักษิณยังมีคดีค้างอีก 31 คดี และมีพฤติการณ์กล่าวหากระบวนการยุติธรรมไทยว่า”ยัดเยียดความผิด”การอนุญาตให้ประกันตัวจึงสุ่มเสี่ยงต่อการที่ผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือหลบหนีไปต่างประเทศ หรือกล่าวให้ร้ายกระบวนการยุติธรรมต่อสาธารณะซึ่งสร้างความเข้าใจผิดในหมู่ประชาชน ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
อนึ่ง คดีนี้อยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของนายปรีชา สุดสงวน อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา ผู้เคยแถลงนายทักษิณป่วยหนักจริงจนเป็นที่ครหาของสาธารณชนทั้งประเทศว่า “สภาพท่าน (ทักษิณ) ตามที่เห็นผมว่าป่วยขั้นวิกฤตเลย นั่งวีลแชร์มา ผมนั่งคุยกับท่านไม่มีมีเสียงเลยสภาพดูแล้วป่วยจริง ๆ จะเดินไม่ไหว”
ขอให้อัยการสูงสุดสั่งการให้อัยการผู้ทำหน้าที่นี้ให้ทำหน้าที่อย่างเที่ยงตรงตามประมวลจริยธรรมอัยการ อย่าให้เกิดข้อครหาด้วยประการใด ๆ อีก
จึงขอให้อัยการสูงสุดสั่งคดีเป็นอิสระ เป็นธรรมแก่ผู้ต้องหาและประชาชนทั้งประเทศตามครรลองแห่งหลักนิติรัฐนิติธรรม หากไม่มีเหตุอันควร โปรดอย่าให้ผู้ต้องหาประวิงคดีอีก เพราะนางสาวแพรทองธาร ชินวัตร กล่าวว่า “การขึ้นศาลก็ดีเหมือนกันเพราะจะได้พูดถึงข้อเท็จจริงได้ และจริง ๆ ส่วนตัวมองว่ามีการบิดเบือนความเป็นจริงตั้งแต่แรกที่ฟ้อง เรื่องนี้เรามั่นใจว่าไม่มีทางที่จะโดนคดีนี้ และนายทักษิณบอกว่าดีที่จะได้ขึ้นศาลเพราะจะได้อธิบายข้อเท็จจริงไปเลย” และภาษิตกฎหมายบอกว่า ความล่าช้าคือความอยุติธรรม จึงขอสนับสนุนให้นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ต้องหาไปศาลยุติธรรมโดยเร็วที่สุด