(วันที่ 18 พฤษภาคม 2567) นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค มอบหมายให้สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ และกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ออกบูทเรื่องการป้องกันโรคฝีดาษวานร ในกิจกรรมการแข่งขันกีฬาวอลเล่ย์บอล VOLLEYBALL LILLY Open 2024 ณ ยิมเนเซียม 1 มหาวิทยาลัยรามคำแหง กรุงเทพมหานคร หลังพบผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
นายแพทย์สุทัศน์ โชตนะพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคฝีดาษวานรในประเทศไทย โดยข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ณ วันที่ 30 เมษายน 2567 พบผู้ป่วยยืนยันสะสม 774 ราย เสียชีวิต 10 ราย เป็นเพศชาย ร้อยละ 97.55 เพศหญิง ร้อยละ 2.45 ผู้ป่วยส่วนใหญ่
อยู่ในช่วงอายุ 30 – 39 ปี อายุน้อยที่สุด คือ 1 ปี 7 เดือน และอายุมากที่สุด คือ 64 ปี ผู้ป่วยรายสัปดาห์ที่ผ่านมามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วย ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ระยอง อุดรธานี สมุทรปราการ ปทุมธานี และภูเก็ต โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ยังมีผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษวานรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พบผู้ป่วยยืนยันสะสม จำนวน 429 ราย ข้อมูลจากสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค พบว่า ส่วนใหญ่มีรายงานผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพเหนือ กรุงเทพกลาง ที่มีแหล่งท่องเที่ยว และมีชาวต่างชาติพักอาศัย
นพ.สุทัศน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ และช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์ที่ผ่านมา พบผู้ป่วย
มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การแพร่กระจายของโรคไม่ใช่เกิดเฉพาะในกลุ่มรักร่วมเพศเท่านั้น อาจเกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดกัน เน้นย้ำประชาชนและเยาวชนหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนไม่รู้จัก ไม่สัมผัสแนบเนื้อกับผู้ที่มีผื่น ตุ่มหรือหนอง รวมทั้งควรล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล และไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว หากมีอาการสงสัย หรือเป็นกลุ่มเสี่ยง สามารถแจ้งประวัติเสี่ยง และติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อตรวจหาเชื้อได้ทันที สำหรับสถานพยาบาล หรือคลินิกเอกชน กรณีที่พบผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อหรือมีอาการ พิจารณาเก็บตัวอย่างส่งตรวจยืนยันหาเชื้อ โดยซักประวัติเสี่ยงต่อการติดเชื้อ กรณีผู้ป่วยชาวต่างชาติ หรือมีประวัติเดินทางเข้ามาประเทศไทย ไม่เกิน 21 วัน ให้ซักประวัติการเดินทางไปยังเมือง ประเทศต่างๆ โดยให้ผู้ป่วยระบุความเสี่ยงที่อาจจะเกิดการติดเชื้อ หรือสัมผัสโรคขณะเดินทาง
โรคฝีดาษวานร (Monkeypox) เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Orthopoxvirus สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คน และคนสู่คน การแพร่เชื้อในคนเกิดจากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรือตุ่มหนองบริเวณผิวหนังของผู้ป่วย อาการจะเริ่มหลังได้รับเชื้อประมาณ 5 -21 วัน โดยมีอาการ ได้แก่ ไข้ ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ และหมดแรง ต่อมาจะมีผื่นตามร่างกาย เช่น ใบหน้า ฝ่ามือฝ่าเท้า อวัยวะเพศ โรคนี้ส่วนใหญ่หายได้เอง สามารถพบผู้ป่วยมีอาการรุนแรงได้ในกลุ่มเด็กที่มีปัญหาด้านสุขภาพส่วนบุคคล เช่น ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือมีอาการแทรกซ้อน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
------------------------------------------------
สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค
18 พฤษภาคม 2567