About Me

header ads

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จติดตามการดำเนินงาน โครงการ TO BE NUMBER ONE ณ จังหวัดยโสธร




เมื่อวันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จเยี่ยมการดำเนินงานโครงการ TO BE NUMBER ONE ทรงเปิดชมรม TO BE NUMBER ONE และศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE ณ โรงเรียนคำเขื่อนแก้วชนูปถัมภ์ อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร โดยมีนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร, นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต , นายแพทย์จุมภฎ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต คณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนจังหวัดยโสธร เฝ้ารับเสด็จ


นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 21 ปี ที่ผ่านมาการดำเนินงานโครงการ TO BE NUMBER ONE  ส่งผลให้เยาวชนสมาชิก TO BE NUMBER ONE ได้รับการพัฒนาศักยภาพให้มีความรู้และทักษะในการดูแลตนเอง ไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ขณะเดียวกันก็เป็นเครือข่ายที่มีความสามารถ พร้อมดูแลช่วยเหลือเพื่อนๆ ให้ห่างไกลยาเสพติดได้ด้วย   ซึ่งแนวทางการดำเนินงาน และกิจกรรมในโครงการ TO BE NUMBER ONE เป็นการทำงานบนพื้นฐานความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติ และความต้องการของเยาวชนวัยรุ่นอย่างแท้จริง เป็นการป้องกันปัญหาที่ตัวเยาวชนเอง ทั้งด้านการพัฒนา EQ การค้นหาและเข้าใจตนเอง การใช้เวลาว่างอย่างสร้างสรรค์ ส่งเสริมให้เยาวชนกล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก อย่างถูกต้องเหมาะสม ทำให้เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง เหล่านี้เป็นภูมิคุ้มกันทางจิตใจที่เปรียบเหมือนเกราะที่แข็งแรง ที่ช่วยป้องกันเยาวชนสมาชิก TO BE NUMBER ONE ให้พ้นภัยจากยาเสพติด และภัยสังคมอื่นๆ 

  นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร กล่าวว่า ตลอดเวลา  21  ปี จังหวัดยโสธร ได้ดำเนินโครงการ TO BE NUMBER ONE ภายใต้การบริหารจัดการเชิงบูรณาการของคณะกรรมการดำเนินงานโครงการ TO BE NUMBER ONE จังหวัดยโสธร โดยดำเนินงานตาม 3 ยุทธศาสตร์หลักของโครงการ TO BE NUMBER ONE เพื่อร่วมดูแลบุตรหลานและประชาชนในพื้นที่ ส่งผลให้เด็กและเยาวชนของจังหวัดยโสธร เกิดค่านิยมที่ถูกต้อง เป็นหนึ่งโดยไม่พึ่งยาเสพติด มีภูมิคุ้มกัน ทางจิตใจ เป็นเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีความเชื่อมั่น เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง มีการสร้างและพัฒนาเครือข่ายชมรมให้มีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน

  ปัจจุบันจังหวัดยโสธร เป็นจังหวัดต้นแบบระดับยอดเพชร ปีที่ 4 มีสมาชิก TO BE NUMBER ONE อายุ 6 – 24 ปี จำนวน 140,120 คน คิดเป็นร้อยละ  97.98  มีชมรม TO BE NUMBER ONE ในสถานศึกษา ชุมชน สถานประกอบการ เรือนจำ และสำนักงานคุมประพฤติ รวมทั้งสิ้น 1,342 ชมรม  มีศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE รวม 356 แห่ง มีเยาวชนต้นแบบเก่งและดี TO BE NUMBER ONE IDOL เข้าสู่รอบระดับประเทศตั้งแต่รุ่นที่ 1 ถึงรุ่นที่ 13  มีทีม TO BE NUMBER ONE DANCERCISE จำนวน 3 ทีม 


นายชาติชาย  สิงห์พรหมสาร ผู้อำนวยการโรงเรียนคำเขื่อนแก้วชนูปถัมภ์ กล่าวว่าโรงเรียนคำเขื่อนแก้วชนูปถัมภ์ ได้น้อมนำหลักการดำเนินโครงการ TO BE NUMBER ONE มาใช้เป็นแนวทางในการป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติดภายในโรงเรียน โดยจัดตั้งชมรม TO BE NUMBER ONE ขึ้นเมื่อปี 2549 ด้วยความร่วมมือจากคณะครู  ผู้ปกครอง และหน่วยงานต่าง ๆ ประกอบกับความมุ่งมั่น ตั้งใจ และทุ่มเทในการดำเนินงานของนักเรียน ทำให้ชมรม TO BE NUMBER ONE ของโรงเรียนคำเขื่อนแก้วชนูปถัมภ์ มีความเข้มแข็งและเป็นเครือข่ายในการสอดส่องดูแลสมาชิกทุกคน โดยยึดหลักการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับปรัชญาของโรงเรียนที่ว่า อตฺตนา โจทยตตานํ แปลว่า จงเตือนตนด้วยตนเอง  โดยกิจกรรมเด่นของชมรม คือการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ในรูปแบบต่างๆ เช่น การให้ความรู้เกี่ยวกับโทษ ของยาเสพติด การสอดส่องดูแลสมาชิกทุกคน การสนับสนุนให้สมาชิกเล่นกีฬา ดนตรี งานศิลปะและกิจกรรมอื่นๆ ตามที่สนใจ ส่งเสริมให้สมาชิกมีจิตอาสา ช่วยเหลือสังคม และในปีนี้ โรงเรียนคำเขื่อนแก้วชนูปถัมภ์ สมาชิกชมรมและทีม DANCERCISE ได้เป็นตัวแทนจังหวัดยโสธรเข้าร่วมประกวดนำเสนอผลงาน ร่วมแข่งขัน DANCERCISE และประกวด TO BE NUMBER ONE IDOL ระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งการเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวแกนนำชมรมได้ช่วยกันวางแผน ออกแบบ            และดำเนินงานจนสำเร็จ โดยมีคณะครูคอยให้คำปรึกษาตามหลักการดำเนินงานชมรมที่ว่า   เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน





นางสาวธิดารัตน์ อุ่นเรือน  ผู้จัดการศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE  โรงเรียนคำเขื่อนแก้วชนูปถัมภ์ กล่าวว่า “ศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE ของโรงเรียนคำเขื่อนแก้วชนูปถัมภ์”  เปิดให้บริการมาแล้ว 18 ปี โดยให้บริการทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ในช่วงเช้า พักกลางวัน และช่วงหลังเลิกเรียน มีอาสาสมัครประจำศูนย์ฯ 15 คน ยึดหลัก  ในการทำงานคือ ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่หนึ่ง กิจกรรมภายในศูนย์ประกอบด้วย บริการให้คำปรึกษา กิจกรรมพัฒนา EQ การร้องเพลง การเต้น กิจกรรมสร้างสุขและส่งเสริมทักษะอาชีพต่างๆ เช่น พวงกุญแจหมอนปักลายขิด งานประติมากรรมและงานภาพวาดลายไทย งานผลิตภัณฑ์จักสานไม้ไผ่  ผ้ามัดย้อม เดคูพาจ และสร้อยลูกปัด  

ในวโรกาสนี้ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ได้พระราชทานพระอนุญาตให้สมาชิก “ใครติดยายกมือขึ้น” จากสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดยโสธร และสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดยโสธร เข้าเฝ้าพร้อมทั้งพระราชทานกำลังใจและคำแนะนำเพื่อป้องกันความผิดพลาดซ้ำในกลุ่มเสี่ยง  และพระราชทานคำปรึกษาแก่สมาชิก TO BE NUMBER ONE   จากสถานศึกษาต่างๆ ที่ซักถามปัญหา ซึ่งจะนำไปสู่การจัดการกับปัญหาอย่างเหมาะสม

----------------------------------------------------------------