About Me

header ads

เปิดตัว!!อย่างเป็นทางการแล้ว “ศูนย์ต้นแบบ Medical Fitness to Drive Center” หรือ “ศูนย์ทดสอบสมรรถนะผู้ขับขี่ยานพาหนะ” ล่าสุดมีผู้มารับบริการแล้วกว่า 450 ราย พบผู้ขับขี่มากกว่าร้อยละ 60 มีโรคประจำตัวมากกว่า 2 ชนิด เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หั

                                           

เมื่อเร็วๆนี้ นายแพทย์สุทัศน์  โชตนะพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง พร้อมด้วย ผู้แทนจากกรมการขนส่งทางบกและคณะผู้บริหาร ร่วมพิธีเปิดตัว “ศูนย์ต้นแบบ Medical Fitness to Drive Center” หรือ “ศูนย์ทดสอบสมรรถนะผู้ขับขี่ยานพาหนะ”พร้อมเยี่ยมชมการให้บริการทดสอบสมรรถนะผู้ขับขี่ยานพาหนะ ณ บริเวณ ชั้น 3 สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง 


นายแพทย์สุทัศน์กล่าวว่ากิจกรรมวันนี้เป็นการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของ“ศูนย์ต้นแบบ Medical Fitness to Drive Center” หรือ “ ศูนย์ทดสอบสมรรถนะผู้ขับขี่ยานพาหนะ” ซึ่งเดิมได้เริ่มให้บริการมาแล้วตั้งแต่วันที่   9 มิถุนายน  2566  เป็นต้นมา ล่าสุดข้อมูล ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2566 มีผู้มารับบริการจำนวน 450  ราย ปัญหาของผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะที่มารับบริการส่วนใหญ่พบว่า ผู้ขับขี่รถมีอายุ มากกว่า 60 ปี มากกว่าร้อยละ 60 ของผู้ขับขี่มีโรคประจำตัวมากกว่า 2 ชนิด เช่น ความดันโลหิตสูง  เบาหวาน หัวใจ  และส่วนใหญ่มีปัญหา เรื่อง สายตา การมองใกล้ ไกล และ ลานสายตา การมองเห็นในเวลากลางคืน 

ทั้งนี้จากข้อมูลทางสถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของศูนย์ข้อมูลกลางด้านการบาดเจ็บ 

กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข ปี 2565 พบว่าสาเหตุส่วนหนึ่งของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนเกิดจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่ซึ่งมีอาการป่วยหรือมีโรคประจำตัวและปัจจัยต่าง ๆที่ส่งผลต่อสมรรถนะในการขับขี่ เช่น การมองเห็น ความเมื่อยล้า การได้ยิน การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการใช้สารเสพติด รวมทั้งการมีปัญหา

ทางสุขภาพจิต เป็นต้น การตรวจคัดกรองสุขภาพและสมรรถภาพทางร่างกายและสภาพจิตของผู้ขับขี่ จึงมีความสำคัญมากเพื่อใช้เป็นแนวทางป้องกันก่อนเกิดอุบัติเหตุโดยเฉพาะแนวทางป้องกันในระดับบุคคลที่เป็นผู้ขับขี่ ซึ่งในหลายประเทศได้กำหนดให้มีการตรวจคัดกรองสุขภาพและสมรรถภาพทางร่างกาย และสภาพจิตของผู้ขับขี่เพื่อใช้ประกอบการขอใบอนุญาตขับขี่ 

   



    กรมควบคุมโรคได้มอบหมายให้สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมืองจัดทำ “โครงการพัฒนาระบบบริการ การตรวจสมรรถนะและประเมินความพร้อมทางการแพทย์ในผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะ” ด้วยการจัดตั้ง “ศูนย์ต้นแบบ Medical Fitness to Drive Center” หรือ “ ศูนย์ทดสอบสมรรถนะผู้ขับขี่ยานพาหนะ” ขึ้นที่สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ซึ่งจะเป็นศูนย์แห่งแรกของประเทศที่ให้บริการทดสอบสมรรถนะผู้ขับขี่อย่างครบวงจร 

ด้านนายสุขสันต์  จิตติมณี  รองผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมืองกล่าวว่า“ศูนย์ต้นแบบ Medical Fitness to Drive Center” หรือ “ศูนย์ทดสอบสมรรถนะผู้ขับขี่ยานพาหนะ” จะมีการจัดบริการคลินิก ตรวจสุขภาพเพื่อประเมินความพร้อมทางการแพทย์และตรวจสมรรถนะทางร่างกายของผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะที่ได้รับใบอนุญาตแล้ว ได้แก่ การคัดกรองสุขภาพทั่วไป การตรวจเลือด-ปัสสาวะ การตรวจการมองเห็น การตรวจการได้ยิน เอกซเรย์ปอด การตรวจสุขภาพจิต ตรวจสมรรถภาพการทำงานของปอด กรณีพบความผิดปกติ จะมีการนัดให้มาตรวจการนอนหลับและการตัดสินใจและสมรรถนะในการขับขี่รถยนต์ต่อไป ผู้สนใจสามารถโทรสอบถามรายละเอียดในการเข้ารับบริการ ได้ที่ 02-5514349, 02-5211668 หรือติดต่อได้ที่ http://ossiudc.ddc.moph.go.th/  ซึ่งโครงการนี้จะดำเนินการตรวจต่อเนื่องที่สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง จนถึงวันที่  31 มีนาคม 2567 


ด้านนายฐิติพัฒน์  ไทยจงรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสวัสดิภาพการขนส่งทางบก กรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า กรมการขนส่งทางบกเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการออกใบอนุญาตขับรถให้กับผู้ใช้รถใช้ถนน ซึ่งจำเป็นต้องมีการคัดกรองผู้ขับรถผ่านกระบวนการออกใบอนุญาตขับรถในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านสมรรถภาพทางร่างกาย การไม่มีภาวะโรคที่เป็นอันตรายต่อการขับรถ มีความรู้และทักษะในการขับรถ โดยในปัจจุบันมีสถิติผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถรวมทั้งสิ้น 33.3 ล้านฉบับ แยกเป็นใบอนุญาตสำหรับขับรถส่วนบุคคล 31.3 ล้านฉบับ รถขนส่งและรถรับจ้างสาธารณะ  2 ล้านฉบับ สำหรับการดำเนินโครงการนี้ เป็นโครงการที่กรมควบคุมโรคร่วมมือกับกรมการขนส่งทางบกในการศึกษาแนวทางที่จะคัดกรองสมรรถภาพร่างกายให้เป็นไปตามหลักวิชาการและเป็นมาตรฐานสากล โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) สำหรับการดำเนินโครงการ ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกมีเป้าหมายที่จะพัฒนาปรับปรุงกระบวนการขั้นตอนในการคัดกรองผู้ขับรถในด้านความพร้อมทางการแพทย์ทั้งระบบให้ทั่วถึงทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มผู้ขับขี่รถส่วนบุคคลและผู้ขับขี่รถรับจ้างและรถสาธารณะ เพื่อให้มีความทันสมัย และเป็นไปตามหลักวิชาการ โดยจะมีความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขและแพทยสภาอย่างต่อเนื่องต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ผู้ขับขี่ที่มีคุณภาพ มีสภาพร่างกายพร้อม ไม่มีภาวะโรคที่เป็นอันตรายต่อการขับรถ เกิดความปลอดภัยต่อตนเอง ผู้โดยสาร และผู้ใช้รถใช้ถนนอื่น ๆ