ื วันที่ 7 เมษายน 2566 ที่ ห้องประชุมสนามมวยนานาชาติ รังสิต จากมติที่ประชุมคณะกรรมการสภามวยไทยโลกในพระราชูปถัมภ์ ครั้งที่ 4/2565 ได้พิจารณาเห็นชอบโครงการ" สร้างมวยเล็กให้เป็นมวยใหญ่ ก้าวไกลสู่กีฬาโลก" และที่ประชุมมีมติแต่งตั้ง นายอำนวย เกษบำรุง ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการสภามวยไทยโลกในพระราชูปถัมภ์ ให้เป็นผู้รับผิดชอบในตำแหน่ง ประธานโครงการ "สร้างมวยเล็กให้เป็นมวยใหญ่ ก้าวไกลสู่กีฬาโลก" ซึ่งนายอำนวย เกษบำรุง ประธานโครงการได้แต่งตั้งคณะที่ปรึกษา ที่ล้วนเป็นบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถรวมทั้งสิ้น 18 ท่าน
และเพื่อให้การดำเนินการของโครงการเป็นไปด้วยดีตามวัตถุประสงค์ในการพัฒนาภาวะการเจริญเติบโตของนักกีฬามวยไทยอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ ก้าวไปสู่เป้าหมาย พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร ประธานสภามวยไทยโลก ในพระราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยพลเอก ธันวาคม ทิพย์จันทร์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และนายกสมาคมพันธมิตรมวยไทยโลก , นายอำนวย เกษบำรุง ประธานโครงการจึงแต่งตั้ง นายสุนัย เกียรติอัชฌาสัย บรรณาธิการมวยแชมป์ เป็นฝ่ายประสานงานและฝ่ายประชาสัมพันธ์ ของโครงการ "สร้างมวยเล็กให้เป็นมวยใหญ่ ก้าวไกลสู่กีฬาโลก" ทั้งนี้ประธานโครงการมั่นใจว่าด้วยศักยภาพของ นายสุนัย เกียรติอัชฌาสัย จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการหาผู้สนับสนุนในการจัดหารายได้สำหรับโครงการฯ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2566 เป็นต้นไป
พลเอกเชษฐา ฐานะจาโร ประธานสภามวยไทยโลกในพระราชูปถัมภ์กล่าวถึงโครงการ"สร้างมวยเล็กให้เป็นมวยใหญ่ ก้าวไกลสู่กีฬาโลก" เป็นโครงการที่จับต้องได้ หากมีปัจจัยทุกด้านที่เหมาะสม ก็จะสามารถผลิตนักมวยไทยรุ่นใหญ่ให้กับประเทศไทยได้เป็นจำนวนมาก และสร้างความนิยมและเผยแพร่"มวยไทย" ศิลปการต่อสู้ประจำชาติไทย ให้เป็นที่ยอมรับสู่ระดับสากลมากยิ่งขึ้น
ในขณะที่ประธานโครงการ นายอำนวย เกษบำรุง กล่าวถึงที่มาของโครงการ"สร้างมวยเล็กให้เป็นมวยใหญ่ ก้าวไกลสู่กีฬาโลก" ว่าเกิดจากการที่ตนได้เห็นนักมวยรุ่นเล็กที่ต้องทำน้ำหนักก่อนขึ้นชก โดยลดกันหลายกิโลด้วยกรรมวิธีต่างๆ ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของร่างกาย - โครงกระดูก - กล้ามเนื้อ ตลอดจนการพัฒนาของสติปัญญา ซึ่งจากการที่มวยไทยเป็นที่ยอมรับแพร่หลายไปทั่วโลก ได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการโอลิมปิคสากล หรือ IOC ซึ่งตนมองว่าประเทศไทยต้องสร้างนักมวยรุ่นใหญ่ขึ้นมารองรับการแข่งขันระดับนานาชาติในอนาคต จึงเป็นที่มาของโครงการ"สร้างมวยเล็กให้เป็นมวยใหญ่ ก้าวไกลสู่กีฬาโลก" โดยเริ่มจากการสร้างนักมวยรุ่นเล็กที่ขึ้นชกแบบไม่ต้องควบคุมน้ำหนัก ซึ่งค่ายมวยและนักมวยต้องพิจารณาว่าตนเองเหมาะว่าจะขึ้นชกในพิกัดใด ไม่ต้องมาเร่งลดน้ำหนักก่อนขึ้นชกแบบหักโหมจนส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของร่างกายดังกล่าว และตนคิดว่าทันทีที่โครงการเริ่มดำเนินการ จะได้รับความสนใจจากนักมวยไทยทั้งในประเทศ และนักมวยไทยในประเทศต่างๆทั่วโลก นอกเหนือจากการจัดการแข่งขันบนสังเวียนมวยไทยแล้ว ยังจัดแข่งขันไหว้ครูมวยไทยในท่าพรหมสี่หน้าไม่เกิน 5 นาที ที่มีเงินรางวัลชนะเลิศสูงถึง 2 ล้านบาท และรองชนะเลิศถึงอันดับสิบรวมมูลค่ากว่า 5 ล้านบาท และมั่นใจว่าการดำเนินการของโครงการจะสร้างนักมวยไทยในพิกัด 80 กิโลกรัมขึ้นไปในเวลาไม่นาน ก่อนจัดการแข่งขันมวยไทยรุ่นเฮฟวี่เวทที่เปิดกว้างสำหรับนักมวยไทยทั่วโลกมาชิงความเป็นเลิศ โดยมีรางวัลสำหรับสุดยอดนักมวยไทยรุ่นเฮฟวี่เวทเป็นบ้านพร้อมที่ดินมูลค่า 3 ล้านบาท พร้อมเงินสด 5 แสนบาท รองชนะเลิศได้รับที่ดิน 50 ตารางวามูลค่ากว่า 1 ล้านบาท เงินสด 3 แสนบาท พร้อมรางวัลให้กับนักมวยอันดับ 3 ถึงอันดับ 10 รวมมูลค่ากว่า 4 ล้านบาท ซึ่งการผลักดันโครงการ"สร้างมวยเล็กเป็นมวยใหญ่ ก้าวไกลสู่กีฬาโลก" จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ