(10ม.ค.66)เมื่อเวลา 11.18 น.ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการ อาคารเอ นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือผ่านนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดถึงนางสาวนารี ตัณฑเสถียร อัยการสูงสุด ขอข้อเท็จจริงและให้เร่งดำเนินการตามกฎหมายและจริยธรรมอย่างเคร่งครัด จากกรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งแต่งตั้งพนักงานอัยการและเจ้าพนักงานตำรวจเป็นคณะทำงานคดีอาญานายชัยณัฐร์ หรือตู้ห่าว กรณ์ชายานันท์ กับพวกผู้ต้องหา ในสำนวนคดีอาญา ที่ 794/2565 และที่ 824/2565 โดยกลุ่มผู้ต้องหาเป็นคนจีนแปลงสัญชาติไทยและผู้มีอิทธิพลที่อยู่ในความสนใจของประชาชน โดยมีการตรวจยึดทรัพย์สินของกลุ่มผู้ต้องหาได้จำนวนมากนั้น ขอสอบถามข้อเท็จจริงดังนี้
1. กรณีนายกุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน ได้แต่งตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างอัยการกับตำรวจ ซึ่งมีอัยการจำนวน 7-8 คน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจรวบรวมพยานบุคคลและหลักฐานต่าง ๆ ส่งมอบให้อัยการเพื่อสอบปากคำ กระบวนการทำงานพบว่ามีอัยการผู้ปฏิบัติงานไม่เพียงพอหรือไม่สัมพันธ์กับจำนวนพยานบุคคลที่มีจำนวนมาก ต้องมารออัยการ ทำให้เกิดความล่าช้าและอาจขาดประสิทธิภาพ เนื่องจากคดีนี้เกี่ยวข้องกับความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ ประเภท 1 (ยาอี, เฮโรอีน) อันเป็นการมีไว้จำหน่ายเพื่อการค้า กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความปลอดภัยของประชาชนทั่วไป, ร่วมกันจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2 อันเป็นการมีไว้จำหน่ายเพื่อการค้า กระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยของประชาชนทั่วไป, สมคบกันกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดและสนับสนุนช่วยเหลือผู้กระทำ ความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด, ร่วมกันเปิดสถานบริการโดยไม่ได้รับอนุญาตและยินยอมหรือปล่อยปละให้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดภายในสถานบริการ และมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ โดยกลุ่มผู้ต้องหาเป็นกลุ่มจีนสีเทา ผู้มีอิทธิพลที่อยู่ในความสนใจของประชาชน และมีการตรวจยึดทรัพย์สินของกลุ่มผู้ต้องหาได้จำนวนมากอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ดังนั้น เพราะเหตุใด นายกุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน จึงแต่งตั้งอัยการจำนวนเพียง 7-8 คน เป็นคณะทำงานสอบสวน ดังนั้น เพราะเหตุใด นายกุลธนิต จึงแต่งตั้งอัยการเพียงเท่านี้เป็นคณะทำงานสอบสวน และเพราะเหตุใดไม่แต่งตั้งอัยการสำนักงานการสอบสวนทั้งหมดเป็นคณะทำงานสอบสวนเพื่อความสะดวกรวดเร็วและรอบคอบในการทำงาน
2. มีข่าวว่าเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2565 เวลาเย็น พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. ได้จัดซุ้มอาหารจำนวนหลายร้านเพื่อเลี้ยงฉลองในเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2566 ให้กับคณะพนักงานอัยการที่สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด ชั้น 6 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ จริงหรือไม่ ถ้าจริง จะเป็นการกระทำที่ผิดประมวลจริยธรรม หรือความสงบเรียบร้อยศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ รวมทั้งจริยธรรมตำรวจ อัยการ เจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ เนื่องจากอัยการมีหน้าที่ตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่การที่อัยการรับการจัดเลี้ยงอาหารจาก ผบช.น. ในฐานะเจ้าพนักงานผู้ส่งสำนวนให้พนักงานอัยการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องตามกฎหมายแล้วจะมีความโปร่งใสยุติธรรมหรือไม่ ดังนั้นขอให้ตรวจสอบเหตุการณ์นี้จากกล้องวงจรปิด และสอบถามพยานบุคคลจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย พนักงานอัยการที่อยู่ภายในสำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุดในวันและเวลาดังกล่าว
3. ตามสำเนาข่าวไทยรัฐออนไลน์ลงวันที่ 5 มกราคม 2566 นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เปิดฉากด้วยการถือตะเกียงเปรียบเทียบว่า “บ้านเมืองอยู่ในความมืดมิดไร้ความหวัง ไร้ผู้นำ ในการให้ความยุติธรรม ทั้งยังปักเทียนเปรียบเทียบว่า ผบ.ตร. และอัยการกำลังนั่งเทียนทำสำนวนคดี ทั้งที่พยานหลักฐานไม่แน่นหนาสำนวนอ่อน สังเกตได้จากการแถลงข่าวที่สำนักงานอัยการสูงสุดและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” การที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ในฐานะประชาชนที่ออกมาเปิดเผยพร้อมหลักฐานบางส่วนว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจและอัยการไม่รัดกุม ไม่เป็นธรรมถึงกับต้องแจกเทียนไขและถือตะเกียงส่องทางให้ตำรวจและอัยการเป็นการแสดงให้เห็นว่าประชาชนขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมชั้นการสอบสวนอย่างร้ายแรง สำนักงานอัยการสูงสุดจะดำเนินการสร้างความเชื่อมั่นและความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอย่างไร
4. ตามที่สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวนายกุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวนแถลงข่าวว่า “ตรวจสอบสำนวนโดยละเอียดพบว่าพนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานในแนวทางที่ถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ดีทุกอย่าง” เหตุใดจึงรีบด่วนสรุปเช่นนั้น มีเหตุผลพิเศษอย่างไร จะสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมชั้นอัยการให้กับประชาชนได้หรือไม่ ดังนั้น ขอให้นางสาวนารี ตัณฑเสถียร อัยการสูงสุดพิจารณาดำเนินการดังนี้
1. ขอให้สำนักงานอัยการสูงสุดตอบข้อสงสัยดังกล่าว
2. ขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณี พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. จัดซุ้มอาหารจำนวนหลายร้านเพื่อเลี้ยงฉลองในเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2566 ให้กับพนักงานอัยการที่สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด ชั้น 6 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ จริงหรือไม่ ผิดกฎหมายหรือประมวลจริยธรรมข้าราชการฝ่ายอัยการของสำนักงานอัยการสูงสุดหรือไม่
3. ขอให้ตรวจสอบคณะทำงานตามคำสั่งของนายกุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน มีการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต โปร่งใส และถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบหรือไม่ เป็นไปตามที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ วิพากษ์วิจารณ์ต่อสาธารณะด้วยความสุจริตใจหรือไม่
นายวัชระ เปิดเผยว่า ภายหลังยื่นเอกสารหลักฐานดังกล่าวให้อัยการสูงสุดแล้ว ในวันที่ 11 ม.ค.66 เวลาประมาณ 11.00 น.จะไปยื่นหลักฐานทั้งหมดนี้ต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล และจะได้เปิดเผยหลักฐานต่างๆต่อสื่อมวลชนด้วย