(16 พ.ย.65)ที่สำนักงานป.ป.ช.นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือถึงนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ให้ตรวจสอบการกระทำของนางพรพิศ เพชรเจริญเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและคณะกรรมการตรวจการจ้างกรณีกระทำผิดกฎหมายและข้อสัญญาโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เนื่องจากสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ทำสัญญาก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ สัญญาเลขที่116/2556กับบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) สัญญาเริ่มต้นวันที่ 8 มิถุนายน 2556 และสิ้นสุดสัญญาวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 รวมระยะเวลาก่อสร้าง 900 วัน เมื่อครบกำหนดสัญญาการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ มีการขยายสัญญา 4 ครั้ง เป็นระยะเวลา 1,864 วัน สิ้นสุดสัญญาเมื่อ 31 ธันวาคม 2563 ต่อมาสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรมีหนังสือแจ้งเรียกค่าปรับวันละ 12.28 ล้านบาท รวมทั้งค่าใช้จ่ายผู้ควบคุมงานและที่ปรึกษาบริหารการก่อสร้างอีกวันละ 332,140 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 แต่ปรากฏว่าหลังจากสัญญาสิ้นสุดลงและไม่มีการขยายสัญญาอีก ยังมีการก่อสร้างอีกหลายรายการที่ก่อสร้างไม่ตรงแบบ บางรายการได้รับการอนุมัติแก้แบบจากคณะกรรมการตรวจการจ้างแล้ว(คตจ.) แต่บางรายการยังไม่ได้รับอนุมัติ ซึ่งทั้ง 2 กรณีดังกล่าวยังไม่มีการแก้ไขสัญญาอีกจำนวนมาก เห็นว่าขณะนี้สัญญาได้สิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2563 แล้ว ไม่น่าจะมีการแก้ไขสัญญาได้ แต่ขณะนี้ยังมีการก่อสร้างโดยอ้างว่าจะรวมแก้ไขสัญญาตอนส่งงานงวดสุดท้าย จึงขอให้ตรวจสอบเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, คณะกรรมการตรวจการจ้างและผู้ควบคุมงานเพื่อพิจารณาดำเนินการลงโทษต่อไป
จากนั้นนายวิลาศได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบการปูพื้นด้วยหินแกรนิตดำไทยบริเวณทางเดินรอบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ส่อว่ากระทำความผิดในหน้าที่ราชการ เนื่องจากบริเวณทางเดินเท้าจากหัวมุมทางแยกถนนทหารตัดกับถนนสามเสน ตามริมถนนทหารมีการปูพื้นทางเท้าด้วยหินแกรนิตดำไทย ขนาด 60x60 ซม. ซึ่งเป็นความประหลาดของทางเดินเท้า เพราะทางเดินเท้าดังกล่าว (รอยต่ออยู่ทางแยก)ปูด้วยหินวิทิตาส้มขนาดและสีหลากหลาย โดยมีการอ้างว่า เนื่องจากสัมปทานเหมืองหินวิทิตาส้มสิ้นสุด (สัมปทานของบ.นิวยอร์คหินอ่อนและแกรนิต) แต่ทางเดินเท้าจากทางแยกไปตามถนนทหารกลับปูพื้นด้วยหินแกรนิต จากการค้นหาข้อมูลเบื้องต้นจากนักธรณีวิทยาและวิศวกรเหมืองแร่ให้ข้อมูลตรงกันว่า
1.ถึงแม้ว่าเหมืองหินวิทิตาของบ.นิวยอร์คจะสิ้นสุดสัมปทานยังสามารถสั่งนำเข้าจากต่างประเทศจีนได้ ไม่จำเป็นต้องใช้หินวิทิตาขนาดและสีหลากหลายเช่นนี้ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเรียกว่าเศษหิน
2.การเปลี่ยนจากหินวิทิตาส้มเป็นหินแกรนิตดำไทย ซึ่งสีไม่สม่ำเสมอ อีกทั้งหินแกรนิตดังกล่าวเป็นสีที่มีราคาต่ำ
3.ขณะทำทางเดินเท้าบริเวณดังกล่าวมีการถมดินซึ่งมีขยะจำนวนมาก ซึ่งจะนำภาพส่งหน่วยงานกลางต่อไป
4.การปูพื้นบริเวณทางเท้างานหยาบมาก พื้นไม่สม่ำเสมอ(มีแอ่งน้ำ) รอยต่อระหว่างแผ่นไม่เรียบร้อยและมีคราบปูน
5.ทราบว่ามีการเปลี่ยนแปลงขนาดของหินหลายครั้ง บางครั้งได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการตรวจการจ้างแล้ว(คตจ.) แต่บางครั้งยังไม่ได้รับการอนุมัติ อย่างไรก็ตามมีการปูพื้นหินเสร็จสิ้นและมีการเบิกจ่ายเงินงวดให้ผู้รับจ้างแล้ว ทั้งๆที่ยังไม่มีการตกลงเรื่องเงินลดและแก้ไขสัญญา เห็นว่าน่าจะเป็นการกระทำที่ผิดข้อสัญญาและข้อกฎหมาย จึงขอให้ดำเนินการตามกฏหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป