นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 9 นครราชสีมา ได้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานคุณภาพเครื่องเอกซเรย์ และห้องเอกซเรย์วินิจฉัยทางการแพทย์ ในโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชนในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 9 " นครชัยบุรินทร์ " ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 818 ตัวอย่าง จำแนกเป็นเครื่องเอกซเรย์วินิจฉัย ทางการแพทย์ 480 ตัวอย่าง ได้แก่ เครื่องเอกซเรย์ทั่วไป เครื่องเอกซเรย์วินิจฉัยทั่วไปชนิดเคลื่อนที่ เครื่องเอกซเรย์ทันตกรรม เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เครื่องเอกซเรย์ฟลูออโรสโคปี เครื่องเอกซเรย์เต้านม เครื่องเอกซเรย์ สวนหลอดเลือดหัวใจ และห้องเอกซเรย์วินิจฉัยทางการแพทย์ 338 ตัวอย่าง โดยวิธีทดสอบตามข้อกำหนดประกาศของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เรื่อง มาตรฐานเครื่องเอกซเรย์วินิจฉัยทางการแพทย์ พ.ศ. 2562 ซึ่งผลการทดสอบมาตรฐานคุณภาพเครื่องเอกซเรย์ และห้องเอกซเรย์วินิจฉัยทางการแพทย์ พบว่า เครื่องเอกซเรย์และห้องเอกซเรย์วินิจฉัยทางการแพทย์ที่ได้รับการทดสอบมีคุณภาพได้มาตรฐานทุกตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 100
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันเครื่องเอกซเรย์ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในทางการแพทย์ และสาธารณสุข และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะทางด้านการวินิจฉัยโรค ซึ่งทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็ว ช่วยให้การรักษาโรคมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามเครื่องเอกซเรย์ควรจะต้องได้รับการตรวจสอบคุณภาพเป็นประจำทุกปีหรือภายหลังการเปลี่ยนอุปกรณ์หรือซ่อมแซม เนื่องจากรายการทดสอบ ตามข้อกำหนดมีผลต่อคุณภาพของภาพถ่ายทางรังสีที่แพทย์ใช้เพื่อการวินิจฉัย อาจจะมีผลทำให้การวินิจฉัยไม่ถูกต้องทำให้ต้องฉายรังสีซ้ำ ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับปริมาณรังสีโดยไม่จำเป็น ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อสุขภาพได้
“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่ง มีหน้าที่ตรวจสอบและควบคุมคุณภาพของเครื่องเอกซเรย์และห้องเอกซเรย์วินิจฉัยทางการแพทย์ให้เป็นไป ตามข้อกำหนดประกาศของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อให้การปฏิบัติงานมีความถูกต้องและปลอดภัย สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านรังสี ผู้ป่วย ตลอดจนบุคคลทั่วไป” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว
****************************** 21 พฤษภาคม 2565